เว็บจักรพันธ์ก้อนมณี http://researcher.siam2web.com/

การจัดการความรู้ 

เรื่อง รูปแบบการจัดการความรู้แบบกระติ๊บ 7 ใบ

 

โดย จักรพันธ์   ก้อนมณี 

สาขาวิจัยและประเมินการศึกษา วิทยาลัยการฝึกหัดครู 

 

การจัดการความรู้

การจัดการความรู้ คือ การรวบรวม สร้าง จัดระเบียบ แลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ความรู้ในองค์กร โดยพัฒนาระบบจาก ข้อมูล ไปสู่ สารสนเทศ เพื่อให้เกิด ความรู้ และ ปัญญา ในที่สุด

การจัดการความรู้ประกอบไปด้วยชุดของการปฏิบัติงานที่ถูกใช้โดยองค์กร ต่างๆ เพื่อที่จะระบุ สร้าง แสดงและกระจายความรู้ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้และการเรียนรู้ภายในองค์กร อันนำไปสู่การจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการธุรกิจที่ดี องค์กรขนาดใหญ่โดยส่วนมากจะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการจัดการองค์ความรู้ โดยมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศหรือแผนกการจัดการทรัพยากร มนุษย์

รูปแบบการจัดการองค์ความรู้โดยปกติจะถูกจัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ องค์กรและประสงค์ที่จะได้ผลลัพธ์เฉพาะด้าน เช่น เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญา,เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขัน, หรือเพื่อเพิ่มระดับนวัตกรรมให้สูงขึ้น

 

ประเภทของความรู้

ความรู้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และความรู้แฝงเร้น หรือความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) ความรู้ชัดแจ้งคือความรู้ที่เขียนอธิบายออกมาเป็นตัวอักษร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน หนังสือ ตำรา เวปไซด์ Blog ฯลฯ ส่วนความรู้แฝงเร้นคือความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ไม่ได้ถอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบางครั้งก็ไม่สามารถถอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ความรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นความรู้แฝงเร้น อยู่ในคนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงต้องอาศัยกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนได้พบกัน สร้างความไว้วางใจกัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน

 

ความรู้แบบฝังลึก

ความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ไม่สามารถอธิบายโดยใช้คำพูดได้ มีรากฐานมาจากการกระทำและประสบการณ์ มีลักษณะเป็นความเชื่อ ทักษะ และเป็นอัตวิสัย (Subjective) ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ มีลักษณะเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีบริบทเฉพาะ (Context-specific) ทำให้เป็นทางการและสื่อสารยาก เช่น วิจารณญาณ ความลับทางการค้า วัฒนธรรมองค์กร ทักษะ ความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ การเรียนรู้ขององค์กร ความสามารถในการชิมรสไวน์ หรือกระทั่งทักษะในการสังเกตเปลวควันจากปล่องโรงงานว่ามีปัญหาในกระบวนการ ผลิตหรือไม่

ความรู้ชัดแจ้ง

ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่รวบรวมได้ง่าย จัดระบบและถ่ายโอนโดยใช้วิธีการดิจิทัล มีลักษณะเป็นวัตถุดิบ (Objective) เป็นทฤษฏี สามารถแปลงเป็นรหัสในการถ่ายทอดโดยวิธีการที่เป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อถ่ายทอดความรู้ เช่น นโยบายขององค์กร กระบวนการทำงาน ซอฟต์แวร์ เอกสาร และกลยุทธ์ เป้าหมายและความสามารถขององค์กรความรู้ยิ่งมีลักษณะไม่ชัดแจ้งมากเท่าไร การถ่ายโอนความรู้ยิ่งกระทำได้ยากเท่านั้น ดังนั้นบางคนจึงเรียกความรู้ประเภทนี้ว่าเป็นความรู้แบบเหนียว (Sticky Knowledge) หรือความรู้แบบฝังอยู่ภายใน (Embedded Knowledge) ส่วนความรู้แบบชัดแจ้งมีการถ่ายโอนและแบ่งปันง่าย จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ความรู้แบบรั่วไหลได้ง่าย (Leaky Knowledge) ความสัมพันธ์ของความรู้ทั้งสองประเภทเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน (Mutually Constituted) (Tsoukas, 1996) เนื่องจากความรู้แบบฝังลึกเป็นส่วนประกอบของความรู้ทั้งหมด (Grant, 1996) และสามารถแปลงให้เป็นความรู้แบบชัดแจ้งโดยการสื่อสารด้วยคำพูด

ตามรูปแบบของเซซี (SECI Model) (ของ Nonaka และ Takeuchi) ความรู้ทั้งแบบแฝงเร้นและแบบชัดแจ้งจะมีการแปรเปลี่ยนถ่ายทอดไปตามกลไกต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดความรู้ การผสานความรู้ และการซึมซับความรู้

การจัดการความรู้นั้นมีหลายรูปแบบ มีหลากหลายโมเดล แต่ที่น่าสนใจ คือ การจัดการความรู้ ที่ทำให้คนเคารพศักดิ์ศรีของคนอื่น เป็นรูปแบบการจัดการความรู้ที่เชื่อว่า ทุกคนมีความรู้ปฏิบัติในระดับความชำนาญที่ต่างกัน เคารพความรู้ที่อยู่ในคน เพราะหากถ้าเคารพความรู้ในตำราวิชาการอย่างเดียวนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการมองว่า คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นคนที่ไม่มีความรู้

 

ระดับของความรู้

หากจำแนกระดับของความรู้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

1. ความรู้เชิงทฤษฏี (Know-What) เป็นความรู้เชิงข้อเท็จจริง รู้อะไร เป็นอะไร จะพบในผู้ที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ ที่มีความรู้โดยเฉพาะความรู้ที่จำมาได้จากความรู้ชัดแจ้งซึ่งได้จากการได้ เรียนมาก แต่เวลาทำงาน ก็จะไม่มั่นใจ มักจะปรึกษารุ่นพี่ก่อน

2. ความรู้เชิงทฤษฏีและเชิงบริบท (Know-How) เป็นความรู้เชื่อมโยงกับโลกของความเป็นจริง ภายใต้สภาพความเป็นจริงที่ซับซ้อนสามารถนำเอาความรู้ชัดแจ้งที่ได้มา ประยุกต์ใช้ตามบริบทของตนเองได้ มักพบในคนที่ทำงานไปหลายๆปี จนเกิดความรู้ฝังลึกที่เป็นทักษะหรือประสบการณ์มากขึ้น

3. ความรู้ในระดับที่อธิบายเหตุผล (Know-Why) เป็นความรู้เชิงเหตุผลระหว่างเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ผลของประสบการณ์แก้ปัญหาที่ซับซ้อน และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น เป็นผู้ทำงานมาระยะหนึ่งแล้วเกิดความรู้ฝังลึก สามารถอดความรู้ฝังลึกของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่น ได้พร้อมทั้งรับเอาความรู้จากผู้อื่นไปปรับใช้ในบริบทของตนเองได้

4. ความรู้ในระดับคุณค่า ความเชื่อ (Care-Why) เป็นความรู้ในลักษณะของความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ที่ขับดันมาจากภายในตนเองจะเป็นผู้ที่สามารถสกัด ประมวล วิเคราะห์ความรู้ที่ตนเองมีอยู่ กับความรู้ที่ตนเองได้รับมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ เช่น สร้างตัวแบบหรือทฤษฏีใหม่หรือนวัตกรรม ขึ้นมาใช้ในการทำงานได้

(ที่มาwww.kmcenter.rid.go.th/kmc05/index.php?option=com_content&view=article&id=68&Itemid=97 : 2553)

รูปแบบการจัดการความรู้คือ กระติ๊บเจ็ดใบ

รูปแบบการจัดการความรู้ กระติ๊บเจ็ดใบ (Seven Katib Model) ผู้พัฒนารูปแบบนี้คือ นายจักรพันธ์ ก้อนมณี ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่อง การจัดการความรู้การผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านคำเม็ก จังหวัดยโสธร โดยได้พัฒนามาจากรูปแบบการจัดการความรู้ของ Boyer (๒๐๐๓) ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการจัดการความรู้ของประเทศแคนาดา สรุปว่า โดย Boyer ได้สรุปการจัดการความรู้มี ๕ ขั้นตอน ได้แก่ การพัฒนาความรู้ การค้นหาความรู้ การกลั่นกรองความรู้ การกระจายความรู้ และ การยกระดับความรู้ ซึ่งรูปแบบการจัดการความรู้แบบ กระติ๊บเจ็ดใบ มีรูปแบบต่างจากรูปแบบการจัดการความรู้ของ Boyer ดังนี้

๑. ศึกษาสภาพบริบททั่วไปของชุมชน เป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชนทั้งในเรื่องของจำนวนครัวเรือน ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี อาชีพ สาธารณสุข และผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาความรู้ชุมชนต่อไป ทั้งนี้ เพราะเนื่องจากชุมชนบ้านคำเม็ก จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนพื้นบ้าน มีสังคม วัฒนธรรมและภาษาถิ่นเป็นของตนเอง ดังนั้น ผู้วิจัยเชื่อว่า การที่จะเข้าไปจัดการความรู้ในชุมชน จำเป็นต้องมีการเข้าใจบริบทของชุมชนให้ดี เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคนในชุมชน และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งข้อจำกัดของการจัดการความรู้คือ ถ้าชุมชนไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน การถ่ายทอดความรู้ที่ฝังลึกในตัวบุคคลก็จะเป็นไปได้ยาก ผู้วิจัยจึงเป็นต้องมีการศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชนเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับชุมชน และสร้างความคุ้นเคยกับชุมชนเสียก่อน ซึ่งการศึกษาบริบททั่วไปของชุมชนและการสร้างความคุ้นเคยกับชุมชน ได้สอดรับกับแนวคิดของ (ประสิทธิ์ ลีระประพันธ์ และ อุดม ศรีทิพย์, มปป. : 122) ที่กล่าวว่า ลักษณะทางกายภาพของชุมชน เป็นพื้นฐานประการแรกที่ผู้วิจัยจะต้องทราบ เพราะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและการเข้าใจถึงลักษณะชุมชนตลอดจนศักยภาพของชุมชน และสภาพสังคมของชุมชนด้วย ดังนั้น รูปแบบของการจัดการความรู้ กระติ๊บเจ็ดใบ จึงต้องมีการศึกษาสภาพบริบททั่วไปของชุมชน

 

๒. พัฒนาความรู้ชุมชน เป็นขั้นตอนของการที่นักวิจัยเข้าไปมอบความรู้ให้กับชุมชน ทั้งในเรื่องของแนวคิด อุดมการณ์ แนวทางการปฏิบัติกระบวนการจัดการความรู้ให้กับคนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความรู้ เพื่อให้ชุมชนได้ทราบกระบวนการนำไปสู่การปฏิบัติจริง และชุมชนเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนต่อไป ทั้งนี้ การนำขึ้นตอนนี้ไปสู่ชุมชน จะทำให้ชุมชนได้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการจัดการความรู้ และจะส่งผลให้การจัดการความรู้ของชุมชนง่ายยิ่งขึ้น

          ๓. ค้นหาความรู้ เป็นการสืบค้นความรู้ในการผลิตผลิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในชุมชน เพื่อรวบรวมแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชนทั้งแหล่งความรู้ทั้งแหล่งความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) ที่เป็นความรู้ในรูปแบบเอกสาร หรืออยู่ในตำราคู่มือการปฏิบัติงาน หรือสื่ออื่นๆที่สามารถจับต้องได้ และ แหล่งความรู้ ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) ที่เป็นความรู้แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นเวลานาน และเป็น ภูมิปัญญาของแต่ละคน ทั้งนี้ การค้นหาความรู้ในขั้นตอนนี้ จะช่วยให้ทราบได้ว่า ความรู้ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย กำลังจะถูกนำมารวบรวมและถูกสกัดความรู้ออกมาในขั้นตอนของกระบวนการกลั่นกรองความรู้

 

          ๔. กลั่นกรองความรู้ เป็นขั้นตอนต่อจาการนำความรู้การผลิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผู้วิจัยและคนในชุมชนร่วมกันสืบเสาะค้นหามาจากชุมชน จากนั้นนำมากลั่นกรองสกัดเอาความรู้จากชุมชนให้ออกมาในรูปของโมเดลขั้นตอนการผลิต ซึ่งกระบวนการสกัดความรู้จากชุมชนนั้น ผู้วิจัยได้เลือกใช้วิธีการ โดย การใช้  ๑. เรื่องเล่า (Success Story) ซึ่งซึ่งการใช้เรื่องเล่านี้ จะเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ที่ถ่ายมอบความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลโดยใช้การเล่าประสบการณ์จริงในการผลิต เทคนิคการผลิต และเล่าขั้นตอนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงกระบวนการสุดท้าย ซึ่งการใช้วิธีนี้จะช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างผู้เล่า และผู้ฟัง จนกระทั่งเกิดการถ่ายมอบความรู้จากบุคคลหนึ่ง ไปสู่อีกบุคคลหนึ่งจากนั้น ผู้วิจัยก็จะมีบทบาทในการนำความรู้ที่ผู้เล่าหลายๆคนเอามาสกัด กลั่นกรองความรู้ โดยการใช้เทคนิควิธีการสังเคราะห์เชิงเนื้อหา นำไปสู่การจัดทำสื่อความรู้ต่อไป ๒. ชุมชนผู้ปฏิบัติ (Community of Practice) หรือที่เรียกว่า COP ซึ่งวิธีการให้ชุมชนผู้ปฏิบัติเป็นเครือข่ายของบุคคลที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ ด้วยความเต็มใจที่จะปฏิบัติงาน เนื่องจากความรู้การผลิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นความรู้ที่ไม่เพียงแต่จะอาศัยการบอกเล่าเพียงอย่างเดียว ชุมชนจะเรียนรู้ได้นั้น ต้องเกิดการปฏิบัติจริง ดังนั้น การใช้เทคนิควิธีการให้ชุมชนผู้ปฏิบัติได้เกิดการปฏิบัติ จะก่อให้เกิดการถ่ายมอบความรู้ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น วิธีการนี้ผู้วิจัยมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต และคนในชุมชน เข้ามาถ่ายมอบความรู้ให้แก่กัน และผู้วิจัยก็จะเป็นผู้บันทึกวิธีการผลิตแต่ละขั้นตอนต่อไป ๓. สมุดหน้าขาว (White Pages) ซึ่งสมุดหน้าขาวนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการจัดเก็บความรู้ที่ซ่อนเร้นเข้ามาเป็นความรู้ที่เด่นชัด โดยการรวบรวมข้อมูล ประวัติ ของผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตผลิตภัณฑ์   ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้อยู่ในสารสนเทศที่ชัดเจน สะดวกและง่ายต่อการที่ผู้สนใจจะไปศึกษาเรียนรู้ด้วย ในส่วนของสมุดหน้าขาว ผู้วิจัยได้กำหนดรายละเอียดของสมุดหน้าขาวไว้ดังนี้คือ ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด อาชีพ ประสบการณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ลวดลายที่เชี่ยวชาญในการผลิตผลิตภัณฑ์ ประวัติโดยย่อ บทบาทด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ในชุมชน สถานที่ติดต่อ และรูปถ่าย

 

๕. กระจายความรู้ เป็นการนำรูปแบบขั้นตอนการผลิตที่ได้จากการกลั่นกรองความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญในการผลิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเผยแพร่ให้กับแหล่งเรียนรู้ในชุมชน คนในชุมชน และผู้สนใจได้รับทราบ ซึ่งการกระจายความรู้จากการคัดกรองความรู้ที่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ความรู้นั้นเกิดการเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง และสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ การกระจายความรู้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีสื่อในการนำไปสู่การกระจายความรู้ในวงกว้าง ผู้วิจัยจึงได้เลือกใช้สื่อที่จะนำความรู้กระจายสู่คนในชุมชน คือ สื่อที่เป็นหนังสือพร้อมมีภาพประกอบ เพราะเนื่องจากหนังสือเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ทุกเพศ ทุกวัย และสะดวกต่อการนำไปใช้งาน 

          ๖. ยกระดับความรู้ เป็นการนำความรู้รูปแบบการผลิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพัฒนาเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในระดับต่อไปโดยใช้กระบวนการวิธีการทำวิจัยและพัฒนาและการจัดการความรู้นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น การยกระดับความรู้ของชุมชนบ้านคำเม็ก จังหวัดยโสธร คนในชุมชนได้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในการผลิตเครื่องจักสานกระติ๊บ เป็นกระเป๋าสะพายที่ทำมาจากตอก สานเป็นลวดลายคล้ายกระติ๊บ โดยเย็บด้วยผ้าเพื่อความคงทนแข็งแรง

๗. ความรู้ชุมชนบ้านคำเม็ก จ.ยโสธร เป็นคลังความรู้ที่ได้จากคนในชุมชน และคนในชุมชนร่วมกันพัฒนาขึ้นเมื่อมีปัญหาเพื่อที่จะหาแนวทางแก้ไข ชุมชนก็สามารถที่จะกลับไปนำกระบวนการวิธีการทางวิจัยไปใช้แก้ปัญหาได้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆให้กับชุมชนต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

จักรพันธ์ ก้อนมณี (2553) รายงานผลการวิจัยขั้นที่ ๒ เรื่อง การจัดการความรู้การผลิตผลิตภัณฑ์

ชุมชนบ้านคำเม็ก จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

www.kmcenter.rid.go.th/kmc05/index.php?option=com_content&view=article&id=68&Itemid=97 : 2553


 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 4,555 Today: 5 PageView/Month: 9

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...